



มาเยือนนครนายกทั้งทีควรเริ่มต้นทริปดี ๆ ครั้งนี้ด้วยการแวะไปสักการะศาลหลักเมืองประจำจังหวัดซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองและเป็นที่เคารพของประชาชนชาวนครนายกมายาวนาน โดยหลักเมืองของนครนายกนั้น มีลักษณะเป็นเสาไม้ยาว 1 เมตรเศษ ด้านปลายเสาแกะสลักเป็นรูปดอกบัว ประดิษฐานอยู่ภายในศาลาจตุรมุขเดิมทีตั้งอยู่บริเวณกำแพงเมืองเก่า แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2453 ตัวศาลหลักเมืองเกิดความชำรุดทรุดโทรมลงจนน่าใจหาย ทางราชการจึงเห็นควรให้ย้ายไปสร้างขึ้นใหม่ที่ตึกแดง โรงเรียนศรีนครนายก อันเป็นโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดและสุดท้ายได้ย้ายมาสร้างใหม่อีกครั้ง ณ ริมแม่น้ำนครนายก โดยอยู่ภายในสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 9 ใกล้กับโรงแรมกอบเกื้อพาเลซ ที่มาของศาลหลักเมือง ตามคติความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์นั้น ก่อนสร้างเมืองใด ๆ ขึ้นมาจะต้องทำพิธียกเสาหลักเมืองในจุดที่เป็นชัยภูมิสำคัญเพื่อเสริมสิริมงคลแก่บ้านเมืองนั้น และนี่จึงเป็นที่มาของการสร้างศาลหลักเมืองขึ้น อันเป็นสถาปัตยกรรมสำคัญที่พบทุกจังหวัดในประเทศไทยและหลักเมืองโดยส่วนใหญ่มักทำขึ้นจากไม้มงคล เช่น ชัยพฤกษ์ ราชพฤกษ์ มีปลายยอดเป็นดอกบัวตูมหรือหน้าเทวดา บางแห่งอาจเป็นหลักหินโบราณ หรือ ใบเสมาโบราณ สำหรับตัวศาลที่สร้างครอบหลักเมืองไว้ นิยมสร้างเป็นศาลาจตุรมุขทรงไทยมีประตูทั้งสี่ด้านยอดอาจเป็นแบบปรางค์ แบบปราสาท แบบมณฑป หรือเป็นศาลเจ้าแบบจีนตามศรัทธาท้องถิ่นและมักมีองค์ประธานศาลเจ้าเป็นเทวรูปไม้หรือศิลาที่เรียกกันว่า เจ้าพ่อหลักเมือง หรือเจ้าแม่หลักเมืองอีกด้วย ปัจจุบันศาลหลักเมืองของไทยมักตั้งอยู่ใจกลางตัวจังหวัดนั้นหรือไม่ก็หน้าศาลากลางจังหวัด ขณะเดียวกันเราอาจพบศาลหลักเมืองได้ในบางอำเภอซึ่งเคยเป็นเมืองเก่ามาก่อนแล้วถูกลดฐานะลงเป็นอำเภอในภายหลัง เปิดให้เข้าชมเวลา 08.00-16.00 น.